เกร็ดความรู้เกี่ยวกับโหราศาสตร์ไทย
-
โหราศาสตร์เข้าสู่ประเทศไทย
อ้างอิงจากหนังสือ : อัตชีวประวัติ อ.ทองเจือ อ่างแก้ว ปรมาจารย์ต้นตำรับปฏิทินโหรไทย
เมื่อพระเจ้าอโศกราชมีแสนยานุภาพปราบปรามอินเดียภาคใต้ พ.ศ. 200 ปีเศษ ทำให้ชาวอินเดียภาคใต้และพราหมณ์พาพระเวทย์หนีมาพึ่งอาณาจักรเขมร ต่อมาไทยได้อพยพจากประเทศจีนมาตั้งภูมิลำเนาอยู่ในประเทศสยาม ดังนั้นสยามจึงได้รับการศึกษาวิชาโหรพร้อมลัทธิทางศาสนาและพิธีพราหมณ์ด้วย ซึ่งผู้ที่นำมาเผยแพร่คือ พระโสณะเถระและพระอุตระเถระ ต่อมาในสมัยกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาก็ยกย่องพราหมณาจารย์ขึ้นเป็นมหาราชครู ฉะนั้นจึงมีพราหมณ์ ข้าราชครูเป็นผู้นำในการทำพิธีมงคลต่างๆ
แต่พอสมัยกรุงศรีอยุธยาถูกไฟเผาผลาญจนสิ้น พิธีกรรมต่างๆก็พลอยลบเลือนไปด้วย ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระโหราจารย์จึงได้รวบรวมกันขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แต่ยังคงมีเฉพาะในราชสำนักเท่านั้น นัยว่าพระผู้ใหญ่ยุคนั้นจะเป็นผู้มีปรีชาเฉลียวฉลาดจริงๆ พวกกรมโหรจึงต้องไปมาหาสู่เสมอ ต่อมาการทำพิธีต่างๆ ตามลัทธิพราหมณ์ และกรมโหรก็ได้ยกเลิกไป
ส่วนวิชาโหราศาสตร์นั้นยังคงไว้ไม่ได้ยกเลิกเหมือนพิธีต่างๆ เนื่องจากในประเทศไทยยังมีผู้สนใจในวิชานี้อยู่มาก และอาจจะทวีความนิยมเพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อนหลายสิบเท่าตัว แต่กระนั้นก็ยังมีผู้คนอีกจำนวนมากเช่นกันที่เห็นว่าวิชาโหราศาสตร์เป็นเรื่องงมงาย แต่ร้อยทั้งร้อยคนเราเมื่อชีวิตพบกับปัญหาที่แก้ไม่ตก สุดท้ายก็ต้องหาที่พึ่งทางใจ และหมอดูก็เป็นอีกทางเลือกที่คนส่วนใหญ่เลือกใช้บริการมากที่สุด!!